ประวัติความเป็นมา

27 เมษายน 2567 (ผู้ดูแลระบบ) เกี่ยวกับหลักสูตร

หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด เป็นหลักสูตรที่เปิดสอนภายใต้คณะวิทยาการจัดการ มีประวัติความเป็นมาของหลักสูตร ดังนี้

พ.ศ. 2528 มีพระราชบัญญัติการจัดตั้งคณะวิทยาการจัดการ กรมการฝึกหัดครูได้ปรับปรุงพระราชบัญญัติวิทยาลัยครูเป็น “พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2527” ทำให้วิทยาลัยครูทั่วประเทศมีภาระและหน้าที่เช่นเดียวกับสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ในด้านการจัดการศึกษาในสาขาวิชาการต่างๆ และผลิตครูถึงระดับปริญญาตรี วิทยาลัยครูทุกแห่งได้ปรับปรุงโครงสร้างให้มี “คณะวิทยาการจัดการ” ขึ้นอีก 1 คณะ สำหรับคณะวิทยาการจัดการ วิทยาลัยครูยะลา มีหลักสูตรที่เปิดสอนในสาขาศิลปศาสตร์ 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรอนุปริญญาบริหารธุรกิจและหลักสูตรอนุปริญญาวารสารศาสตร์และการประชาสัมพันธ์ โดยคณะวิทยาการจัดการได้แบ่งส่วนราชการออกเป็น 1 สำนักงาน และ 5 ภาควิชา คือภาควิชาบริหารธุรกิจและสหกรณ์ ภาควิชาการเงินและบัญชี ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ ภาควิชาการตลาด และภาควิชาวารสารศาสตร์และการประชาสัมพันธ์

พ.ศ. 2531 เปิดการสอนสาขาศิลปศาสตร์สายบริหารธุรกิจและการจัดการ โปรแกรมการจัดการทั่วไประดับปริญญาตรี ใน 4 แขนงวิชา คือ แขนงการบัญชี การตลาด คอมพิวเตอร์ธุรกิจ และการท่องเที่ยว

พ.ศ. 2535 กรมการฝึกหัดครู ได้ปรับปรุงหลักสูตรของวิทยาลัยครู ฉบับปี พ.ศ. 2528 (ปรับปรุง 2531) ใหม่เป็น “หลักสูตรของวิทยาลัยครู พ.ศ.2536”

พ.ศ. 2538  ปรับปรุงโครงสร้างคณะใหม่ วิทยาลัยครูเปลี่ยนสถานภาพเป็น “สถาบันราชภัฏ” คณะวิทยาการจัดการได้เปิดสอนหลักสูตรสาขาศิลปศาสตร์สายบริหารธุรกิจเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกหนึ่งหลักสูตร โดยแบ่งส่วนราชการเป็น 1 สำนักงานคณะวิชาและ 5 ภาควิชาเช่นเดิม เพียงแต่ปรับเปลี่ยนชื่อ 2 ภาควิชา คือ ภาควิชาบริหารธุรกิจ (ตัดคำว่า “สหกรณ์” ออก) และภาควิชานิเทศศาสตร์ (เปลี่ยนชื่อจากภาควิชา “วารสารศาสตร์และการประชาสัมพันธ์” เดิม)

พ.ศ. 2543 กรมการฝึกหัดครูได้ประกาศใช้หลักสูตร สถาบันราชภัฏฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2543 และในปีเดียวกัน กรมการฝึกหัดครูร่วมกับสถาบันราชภัฏทั่วประเทศได้ดำเนินการขอเปลี่ยนชื่อหลักสูตร “สาขาศิลปศาสตร์” ที่ใช้เปิดสอนอยู่ให้เป็น “สาขาบริหารธุรกิจ” และ ก.พ.ได้รับรองตามเลขที่รับรอง นร. 0708.8/792 ลงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ยังผลให้บัณฑิตที่ศึกษาตามหลักสูตรบริหารธุรกิจและการจัดการทั่วไป และสำเร็จการศึกษาในปีพ.ศ. 2545 ได้รับวุฒิ “บริหารธุรกิจบัณฑิต” ซึ่งได้สร้างความปราบปลื้มแก่บัณฑิตราชภัฏ

พ.ศ. 2547 วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 สถาบันราชภัฏยะลา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ยกฐานะสถาบันขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา” พร้อมๆ กับสถาบันราชภัฏอื่นทั่วประเทศอีก 40 แห่ง

พ.ศ. 2555 หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรตามมาตรฐานเกณฑ์อุดมศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และเริ่มดำเนินการเปิดรับนักศึกษาในหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2555 เป็นรุ่นแรก โดยมีคณะกรรมการที่เป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร 5 ท่าน คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัปสร อีซอ   อาจารย์สุธิดา วัฒนยืนยง อาจารย์ปวีณา เจะอารง อาจารย์กัลยรัตน์ พินิจจันทร์ และอาจารย์ภูตรา อาแล

พ.ศ. 2557 หลักสูตรได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงอาจารย์ประจำหลักสูตรใหม่ เพื่อรองรับการดำเนินงานของการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2557 โดยมีคณะกรรมการที่เป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร 5 ท่าน คือ รองศาสตราจารย์อัปสร อีซอ  อาจารย์สุธิดา วัฒนยืนยง  อาจารย์ปวีณา เจะอารง อาจารย์ภูตรา อาแล และอาจารย์ ดร.กูมัจดี ยามิรูเด็ง การดำเนินงานของหลักสูตรในครั้งนี้มุ่งให้ความสำคัญกับการผลิตบัณฑิตตามอัตลักษณ์ของหลักสูตรในด้านความคิดสร้างสรรค์ การนำเสนอ ทักษะทางไอที และคุณธรรมจริยธรรม

พ.ศ. 2558 หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด มีบัณฑิตที่มีผลงานโดดเด่นจนได้รับรางวัล คือ คุณอนุวัฒน์ ละมุล บัณฑิตรุ่นที่ 21 ปีการศึกษา 2551 ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทศิษย์เก่า ในงานวันราชภัฏ ประจำปี 2558

พ.ศ. 2559 หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด มีนักศึกษาปัจจุบันรุ่นแรกของหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2555 ที่มีผลงานโดดเด่นจนได้รับรางวัล คือ คุณมุสลีมีน หะยีเซ็ง ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทนักศึกษาผู้สร้างชื่อเสียง ในงานวันราชภัฏ ประจำปี 2559

พ.ศ. 2561 หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด มีนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 ในปีการศึกษา 2560 ที่มีผลงานโดดเด่นจนได้รับรางวัล คือ คุณอุสมาน สามะอาลี ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทนักศึกษาผู้สร้างชื่อเสียง ในงานวันราชภัฏ ประจำปี 2561