ศูนย์ศึกษาวิจัยความเป็นเลิศ
ด้านเศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมบริการ : Betong Learning Center of YRU
|

ประวัติศาสตร์

ยุคอาณาจักร[แก้ไขต้นฉบับ]

จากประวัติศาสตร์เดิมราวพุทธศตวรรษที่ 7 พื้นที่ของอำเภอเบตงเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรลังกาสุกะ โดยมีอาณาเขตปกครองกว้างขวางครอบคลุมคาบสมุทรมลายูตอนล่างทั้งหมดโดยพัฒนามาจากเมืองท่าเล็ก ๆ ของชาวพื้นเมืองจนเติบโตเป็นรัฐและมีฐานะเป็นอาณาจักร จนกระทั่งสมัยพุทธศตวรรษที่ 14-15 อาณาจักรลังกาสุกะได้ตกอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรศรีวิชัย โดยเชื่อว่าอาณาจักรศรีวิชัยน่าจะมีอำนาจที่แผ่กว้างไพศาลมากในสมัยนั้น มีอาณาเขตครอบคลุมไปถึงช่องแคบมะละกา ชวา สุมาตรา แหลมมลายู และหัวเมืองต่างๆ ที่อยู่ภาคใต้ของประเทศไทยในปัจจุบัน[3]

ต่อมาต้นพุทธศตวรรษที่ 19 อาณาจักรศรีวิชัยที่เจริญรุ่งเรืองในบริเวณแหลมมลายูได้เสื่อมอำนาจลง และเกิดอาณาจักรใหม่ คือ อาณาจักรมัชฌาปาหิต (ชวา) ซึ่งมีอำนาจอยู่ในเกาะชวา หรืออินโดนีเซียนั้น ได้ขยายอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลเข้ามาครอบครองดินแดนสุมาตรา และบางส่วนของคาบสมุทรมลายูไป และทำให้ศรีวิชัยล่มสลายไปในที่สุด ประจวบกับในขณะนั้นอาณาจักรสุโขทัยได้ขยายอำนาจลงมายังเมืองไชยา เมืองตามพรลิงก์ และหัวเมืองมลายู และได้ผูกสัมพันธ์กับพระเจ้าศรีธรรมโศกราชโดยได้แต่งตั้งให้ดูแลหัวเมืองแหลมมลายู

เมื่ออาณาจักรสุโขทัยได้เสื่อมลง หัวเมืองมลายู ได้แก่ เมืองปัตตานี เมืองไทรบุรี เมืองกลันตัน และเมืองตรังกานู จึงเป็นประเทศราชต่ออาณาจักรอยุธยา โดยพื้นที่อำเภอเบตงเป็นส่วนหนึ่งของหัวเมืองปัตตานี ต่อมาเมื่ออาณาจักรอยุธยาอ่อนแอลง หัวเมืองมลายูทั้ง 4 จึงได้แข็งข้อ ตั้งตนเป็นรัฐอิสระตลอดมาจนกระทั่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) ทรงรวบรวมหัวเมืองมลายูกลับมาเป็นเมืองประเทศราช จนในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ได้เกิดความไม่สงบขึ้นบ่อยครั้ง จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยสงคราม และพระยาสงขลา ผู้กำกับดูแลหัวเมืองมลายู แบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง และแต่งตั้งให้พระยาเมืองเป็นผู้ปกครองตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2359 เป็นต้นมา ได้แก่ เมืองปัตตานี เมืองยะหริ่ง เมืองสายบุรี เมืองหนองจิก เมืองระแงะ เมืองยะลา และเมืองรามัน ซึ่งพื้นที่ของอำเภอเบตงเดิมได้ขึ้นอยู่กับเมืองรามัน

ยุคปัจจุบัน[แก้ไขต้นฉบับ]

 
เมืองเบตงในอดีต
 
ที่ว่าการอำเภอเบตงหลังเก่า

ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกการปกครองแบบจตุสดมภ์ โดยทรงปรับปรุงเปลี่ยนระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ เรียกว่า "พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องถิ่น ร.ศ. 116" โดยได้นำมาใช้กับ 7 หัวเมืองภาคใต้ โดยเรียกว่า "ข้อบังคับสำหรับ ปกครอง 7 หัวเมือง ร.ศ. 120" มีการแบ่งการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล มีตำแหน่งพระยาเมือง (เจ้าเมือง) ปลัดเมือง, ยกกระบัตรเมือง, โดยทั้งหมดขึ้นตรงต่อข้าหลวง ซึ่งในภาคใต้แบ่งออกเป็น 4 มณฑล โดยเมืองปัตตานีขึ้นอยู่ในมณฑลนครศรีธรรมราช มีผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้ดูแล อยู่ในปกครองของข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑล ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช 2449 ได้โปรดเกล้าฯ ให้แยกหัวเมืองที่ขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราชทั้ง 7 หัวเมือง มาตั้งเป็นมณฑลปัตตานี

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีการตราพระราชบัญญัติการบริหารราชการส่วนภูมิภาค พุทธศักราช 2476 ขึ้น จึงได้ยุบเลิกมณฑลปัตตานี และได้แบ่งออกเป็นจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาสในปัจจุบัน

ในส่วนของอำเภอเบตงนั้นแรกเริ่มได้ตั้งขึ้นเป็นอำเภอชื่อว่า อำเภอยะรม (ตั้งอยู่ที่บ้านฮางุด หมูที่ 1 ตำบลเบตง) แบ่งการปกครองออกเป็น 6 ตำบล คือ ตำบลเบตง ตำบลยะรม ตำบลอิตำ ตำบลโกรเน ตำบลบาโลน และตำบลเซะ หรือโกร๊ะ

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2442 จากผลการปักปันแดนระหว่างไทยกับสหพันธรัฐมลายู (อาณานิคมของอังกฤษ) เป็นเหตุให้ตำบลอิตำ ตำบลโกรเน ตำบลบาโลน และตำบลเซะ หรือโกร๊ะ รวม 4 ตำบล ถูกตัดออกจากอำเภยะรมไปรวมอยู่กับรัฐเปรักในสหพันธรัฐมลายู อำเภอยะรมจึงเหลือการปกครองอยู่เพียง 2 ตำบล คือ ตำบลเบตง และตำบลยะรม ต่อมาได้มีการจัดตั้งตำบลอัยเยอร์เวง และตำบลฮาลา ซึ่งจากหลักฐานปรากฏว่า มีตำบลอัยเยอร์เวงในปีพุทธศักราช 2462 และมีตำบลฮาลาในปี พุทธศักราช 2486

ต่อมาอีกในปีพุทธศักราช 2473 สมัยที่พระพิชิตบัญชาการเป็นนายอำเภอ ได้ย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภอจากบ้านฮางุส หมู่ที่ 1 ตำบลเบตง มาตั้งอยู่ที่บ้านกำปงมัสยิด หมู่ที่ 6 ตำบลเบตง พร้อมกับได้เปลี่ยนชื่อจาก "อำเภอยะรม" เป็น อำเภอเบตง (ที่ว่าการอำเภอหลังเก่าตั้งอยู่ใกล้กับสถานีตำรวจภูธรเบตงปัจจุบัน)

วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เกิดการประท้วงนำโดยหัวหน้าคือ ลู่ เง็กซี่ เรียกร้องให้อำเภอเบตงรวมเข้ากับมลายูของอังกฤษ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ[4]

ในปีพุทธศักราช 2481 ได้ตั้งตำบลตาเนาะแมเราะ และในปีพุทธศักราช 2482 ได้ยุบตำบลฮาลาไปรวมกับตำบลอัยเยอร์เวง รวมทั้งได้ประกาศตั้งเทศบาลตำบลเบตงโดยครอบคลุมพื้นที่ตำบลเบตงทั้งหมด ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2527 กระทรวงมหาดไทยประกาศตั้งตำบลธารน้ำทิพย์ ทำให้อำเภอเบตงมีการปกครองรวม 5 ตำบล คือ ตำบลยะรม ตำบลอัยเยอร์เวง ตำบลตาเนาะแมเราะ และตำบลธารน้ำทิพย์จนถึงปัจจุบัน

ต่อมาได้ย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภออีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 มาตั้งอยู่ที่ปัจจุบัน โดยมีนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานเปิดอาคารหลังใหม่ (นายอรัญ ศรีอรุโณทัย นายบัญชา ชื่นรังสิกุล นายนคร มนัสวานิช เป็นผู้บริจาคที่ดินก่อสร้างจำนวน 12 ไร่)